วันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2550


ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทย พระมหาเถระผู้ยิ่งใหญ่ด้วยทานะ สิละ สัจจะ ขันติ

ประวัติครูบาเจ้า
ครูบาศรีวิชัยมีความปรารถนาที่จะบรรลุธรรมะอันสูงสุดดังปรากฏจากคำอธิษฐานบารมีที่ท่านอธิษฐานไว้ว่า "...ตั้งปรารถนาขอหื้อได้ถึงธรรมะ ยึดเหนี่ยวเอาพระนิพพานสิ่งเดียว..." และมักจะปรากฏความปรารถนาดังกล่าว ในตอนท้ายชองคัมภีร์ใบลานที่ท่านสร้างไว้ทุกเรื่อง อีกประการหนึ่งที่ทำให้ครูบาศรีวิชัยเป็นที่รู้จักและอยู่ในความทรงจำของชาวล้านนา คือการที่ท่านเป็นผู้นำในการสร้างทางขึ้นสู่ วัดพระธาตุดอยสุเทพโดยพลังศรัทธาประชาชนเป็นจำนวนมาก ทั้งกำลังกายและกำลังทรัพย์ ซึ่งใช้เวลาสร้างเพียง 5 เดือนเศษ โดยไม่ใช้งบประมาณของรัฐ

คำสอนที่สำคัญ

แต่เรื่องที่ทำให้ครูบาศรีวิชัยเป็นที่รู้จักกันในระยะแรกนั้น เกิดเนื่องจากการที่ท่านต้องอธิกรณ์ ซึ่งระเบียบการปกครองสงฆ์ตามจารีตเดิมของล้านนานั้นให้ความสำคัญแก่ระบบหมวดอุโบสถ หรือ ระบบหัวหมวดวัด มากกว่า และการปกครองก็เป็นไปในระบบพระอุปัชฌาย์อาจารย์กับศิษย์ ซึ่งพระอุปัชฌาย์รูปหนึ่งจะมีวัดขึ้นอยู่ในการดูแลจำนวนหนึ่งเรียกว่าเจ้าหมวดอุโบสถ โดยคัดเลือกจากพระที่มีผู้เคารพนับถือและได้รับการยกย่องว่าเป็น ครูบา ซึ่งหมายถึงพระภิกษุที่ได้รับความยกย่องอย่างสูง ดังนั้นครูบาศรีวิชัยซึ่งมีชื่อเสียงอยู่ในขณะนั้นจึงอยู่ในตำแหน่งหัวหมวดพระอุปัชฌาย์ โดยฐานะเช่นนี้ ครูบาศรีวิชัยจึงมีสิทธิ์ตามจารีตท้องถิ่นที่จะบวชกุลบุตรได้ ทำให้ครูบาศรีวิชัยจึงมีลูกศิษย์จำนวนมาก และลูกศิษย์เหล่านี้ก็ได้เป็นฐานกำลังที่สำคัญของครูบาศรีวิชัยในการดำเนินกิจกรรมทางศาสนาและกิจกรรมสาธารณประโยชน์ อีกทั้งยังเป็นแนวร่วมในการต่อต้านอำนาจจากกรุงเทพฯ เมื่อเกิดกรณีขัดแย้งขึ้นในเวลาต่อมา
ส่วนสงฆ์ในล้านนาเองก็มีแนวปฏิบัติที่หลากหลาย เนื่องจากมีการจำแนกพระสงฆ์ตามจารีตท้องถิ่นออกเป็นถึง 18 นิกาย และในแต่ละนิกายนี้ก็น่าจะหมายถึงกลุ่มพระที่เป็นสายพระอุปัชฌาย์สืบต่อกันมาในแต่ละท้องที่ซึ่งมีอำนาจปกครองในสายของตนโดยผ่านความคิดระบบครูกับศิษย์ และนอกจากนี้นิกายต่าง ๆ นั้นยังเกี่ยวข้องกับชื่อของเชื้อชาติอีกด้วย เช่น นิกายเชียงใหม่ นิกายขึน (เผ่าไทขึน/เขิน) นิกายยอง (จากเมืองยอง) เป็นต้น
สำหรับครูบาศรีวิชัยนั้นยึดถือปฏิบัติในแนวของนิกายเชียงใหม่ผสมกับนิกายยองซึ่งมีแนวปฏิบัติบางอย่างต่างจากนิกายอื่น ๆ มีธรรมเนียมที่ยึดถือคือ การนุ่งห่มที่เรียกว่า กุมผ้าแบบรัดอก สวมหมวก แขวนลูกประคำ ถือไม้เท้าและพัด ซึ่งยึดธรรมเนียมมาจากวัดดอยแต โดยอ้างว่า สืบวิธีการนี้มาจากลังกา
การที่ครูบาศรีวิชัยถือว่าท่านมีสิทธิ์ที่จะบวชกุลบุตรได้ตามจารีตการถือปฏิบัติมาแต่เดิมนั้น ทำให้ขัดกับพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 (พ.ศ. 2446) เพราะในพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดว่า พระอุปัชฌาย์ที่จะบวชกุลบุตรได้ ต้องได้รับการแต่งตั้งตามระเบียบการปกครองของสงฆ์จากส่วนกลางเท่านั้น โดยถือเป็นหน้าที่ของเจ้าคณะแขวงนั้น ๆ เป็นผู้คัดเลือกผู้ที่ควรจะเป็นอุปัชฌาย์ได้ และเมื่อคัดเลือกได้แล้วจึงจะนำชื่อเสนอเจ้าคณะผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯ เพื่อดำเนินการแต่งตั้งต่อไป
การจัดระเบียบการปกครองใหม่ของกรุงเทพฯ นี้ถือเป็นวิธีการสลายจารีตเดิมของสงฆ์ในล้านนาอย่างได้ผล องค์กรสงฆ์ล้านนาก็เริ่มสลายตัวลงทีละน้อยเพราะอย่างน้อยความขัดแย้งต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นระหว่างสงฆ์ในล้านนาด้วยกันเอง ดังกรณี ความขัดแย้งระหว่างครูบาศรีวิชัยกับพระครูมหารัตนากรเจ้าคณะแขวงลี้ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เป็นต้น
การต้องอธิกรณ์ระยะแรกของครูบาศรีวิชัยนั้นเกิดขึ้นเพราะครูบาศรีวิชัยถือธรรมเนียมปฏิบัติตามจารีตเดิมของล้านนา ส่วนเจ้าคณะแขวงลี้ซึ่งใช้ระเบียบวิธีปฏิบัติของกรุงเทพฯ ซึ่งเห็นว่าครูบาศรีวิชัยทำหน้าที่พระอุปัชฌาย์โดยไม่ได้รับการอนุญาตจากเจ้าคณะแขวงลี้ จึงถือว่าเป็นความผิด เพราะตั้งตนเป็นพระอุปัชฌาย์เองและเป็นพระอุปัชฌาย์เถื่อน ครูบามหารัตนากรเจ้าคณะแขวงลี้กับหนานบุญเติง นายอำเภอลี้ได้เรียกครูบาศรีวิชัยไปสอบสวนเกี่ยวกับปัญหาที่ครูบาศรีวิชัยเป็นพระอุปัชฌาย์บวชกุลบุตรโดยมิได้รับแต่งตั้งตามพระราชบัญญัติ การจับกุมครูบาศรีวิชัยสามารถแบ่งช่วงเวลาออกเป็น 3 ช่วงเนื่องจากเป็นระยะเวลาที่ยาวนานเกือบ 30 ปีและแต่ละช่วงจะมีรายละเอียดของสภาพสังคมที่แตกต่างกัน ทำดีไม่ได้ดี
ครูบาเจ้าศรีวิชัย ท่านเดินทางไปหนแห่งใดก็มีศรัทธาสาธุชนเคารพศรัทธา จากที่ได้ธุดงธ์ไปทั่วแผ่นดินล้านนาได้พบเห็นโบราณสถานสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองแผ่นดินล้านนาเก่าแก่ทรุดโทรมลงเป็นอันมาก จึงได้ร่วมกับศรัทธาสาธุชนบูรณะปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมวัดวาอารามโบราณสถานทั่วแผ่นดินล้านนาไม่อาจจะนับได้ อาทิ บริเวณหน้าวิหารหลวงและพระบรมธาตุ วัดพระธาตุหริภุญชัย (พ.ศ. 2463)
หลังจากกลับจากกรุงเทพฯแล้วไปบูรณะพระเจดีย์ พระธาตุดอยเกิ้ง อำเภอฮอด (พ.ศ. 2464) สร้างวิหารวัดศรีโคมคำพระเจ้าตนหลวง จังหวัดพะเยา (พ.ศ. 2465)บูรณะพระธาตุดอยตุง จังหวัดเชียงราย บูรณะพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ (พ.ศ. 2466) วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ (พ.ศ. 2467) สร้างธาตุและบันไดนาค วัดบ้านปางพระธาตุเกตุสร้อยแก่งน้ำปิง (พ.ศ. 2468) รวบรวมพระไตรปิฏกฉบับอักษรล้านนาจำนวน 5,408 ผูก (พ.ศ. 2469-2471) บูรณะวัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ (พ.ศ. 2474) และผลงานชิ้นอมตะคือ การสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ที่ศรัทธาสานุชนมาร่วมกันสร้างถนนวันละไม่ต่ำกว่า 5,000 คน แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ตามสัจจะวาจา (พ.ศ. 2478) สร้างวิหารวัดบ้านปาง(พ.ศ. 2478 เสร็จปี พ.ศ. 2482) วัดจามเทวี (พ.ศ. 2479) สุดท้าย คือ สะพานศรีวิชัย เชื่อมระหว่างลำพูน (ริมปิง) - เชียงใหม่(พ.ศ. 2481) ที่มาสร้างเสร็จภายหลังจากที่ครูบาศรีวิชัยมรณภาพ (รวมวัดต่างๆที่ท่านครูบาเจ้าศรีวิชัยไปบูรณะปฏิสังขรณ์รวม 108 วัด)ต่อมามีผู้เรียกท่านว่า พระศรีวิชัย ชาวบ้านจึงเรียกท่านว่า ครูบาศรีวิชัยบ้าง ครูบาวัดบ้านปางบ้าง ครูบาศีลธรรมบ้างซึ่งเป็นนามที่ชาวบ้านตั้งให้ ด้วยความนับถือ
ผลงานที่เด่นมากของครูบาศรีวิชัยก็คือ การสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งครูบาศรีวิชัยได้รับคำเรียกร้องจากศรัทธาประชาชน ให้ช่วยดำริและจัดการเรื่องนี้ จึงเริ่มลงมือสร้างเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2477 เวลา 10.00 นาฬิกา ณ เชิงดอยสุเทพด้านห้วยแก้ว โดยมี พลตรี เจ้าแก้วเนาวรัตน์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ เป็นผู้ขุดจอบเป็นปฐมฤกษ์ การสร้างถนนสายนี้ใช้แรงงานเป็นจำนวนมากวันหนึ่งๆ จะมีผู้คนช่วยทำงานประมาณวันละไม่ต่ำกว่า 5,000 คน ถ้าคิดมูลค่าแรงงานเป็นเงินก็คงมากมายมหาศาลทีเดียว การสร้างทางสายนี้ใช้เวลา 5 เดือน กับ 22 วัน จึงแล้วเสร็จ และเปิดให้รถขึ้นลงได้ เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2478

การเปลี่ยนแปลงการปกครองคณะสงฆ์ในล้านนา
เริ่มจากครูบามหารัตนากร เจ้าคณะแขวงลี้ จังหวัดลำพูน กับหนานบุญเติง นายอำเภอลี้ ได้เรียกครูบาเจ้าศรีวิชัยไปสอบสวน เกี่ยวกับกรณีที่ท่านเป็นพระอุปัชฌาย์บวชกุลบุตร โดยไม่ได้รับแต่งตั้งตามพระราชบัญญัติ ในขณะนั้น พระครูญาณมงคล(ปัญญา) เป็นเจ้าคณะเมืองนครลำพูน กรณีนี้ได้สร้างปมยุ่งยากให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยในเวลาต่อมา เพราะท่านไม่ยอมขึ้นกับส่วนกลาง ยังยึดถือขนบปฏิบัติแบบล้านนาอยู่ ทำให้ถูกเพ่งเล็งจากส่วนกลาง เนื่องจากเป็นพระที่มีอิทธิพลต่อความเชื่อความศรัทธาของชาวบ้านสูง นำไปสู่การจับกุมครูบาเจ้าศรีวิชัย ซึ่งสามารถแบ่งช่วงเวลาออกเป็น 3 ช่วง เป็นระยะเวลายาวนานกว่า 30 ปี

ความขัดแย้งของคณะสงฆ์ในล้านนา
ครูบาเจ้าศรีวิชัยถูกจับกุมด้วยข้อหาต้องอธิกรณ์ สืบเนื่องจากที่ชาวบ้านและชาวเขามีความศรัทธาเลื่อมใสในตัวท่าน มักนำบุตรหลานไปฝากฝังให้บวชเณรและอุปสมบท เมื่อความทราบถึงเจ้าคณะแขวงและนายอำเภอลี้ ก็กล่าวหาครูบาศรีวิชัยว่าล่วงเกินอำนาจของตน เจ้าคณะแขวง และนายอำเภอลี้ ได้นำกำลังตำรวจเข้าจับกุม โดยนำไปกักขังไว้ที่วัดเจ้าคณะแขวงลี้ได้ 4 คืน จากนั้นจึงส่งท่านให้พระครูบ้านยู้ เจ้าคณะจังหวัดลำพูน เพื่อรับการไต่สวน ซึ่งผลก็ไม่ปรากฏความผิดอันใด หลังจากการไต่สวนครั้งแรกไม่นาน ครูบาเจ้าศรีวิชัยก็ถูกเรียกตัวสอบอีกครั้ง โดยพระครูมหาอินทร์ เจ้าคณะแขวงลี้ เนื่องจากมีหมายเรียกให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยนำลูกวัดไปประชุมเพื่อรับทราบระเบียบกฎหมายใหม่จากนายอำเภอและเจ้าคณะแขวงลี้ แต่ครูบาเจ้าศรีวิชัยไม่ได้ไปตามหมายเรียก และส่งมีผลให้เจ้าอธิการหัววัดที่อยู่ในหมวดอุโบสถของครูบาเจ้าศรีวิชัย ไม่ได้ไปประชุมเช่นกัน เพราะเห็นว่าเจ้าหัวหมวดไม่ไปประชุมลูกวัดก็ไม่ควรไป ดังนั้น พระครูเจ้าคณะแขวง จึงสั่งให้นายสิบตำรวจเมืองลำพูนเข้าไปจับกุมครูบาเจ้าศรีวิชัย นำส่งให้พระครูญาณมงคลเจ้าคณะจังหวัดลำพูนไต่สวน และกักขังไว้ที่วัดพระธาตุหริภุญไชย เมืองลำพูน เป็นเวลา 23 วัน ส่วนในครั้งที่สามเกิดขึ้นในปีพุทธศักราชเดียวกัน พระครูเจ้าคณะแขวงลี้ ได้สั่งให้ครูบาเจ้าศรีวิชัย นำลูกวัด เจ้าอธิการหัววัด ตำบลบ้านปาง ซึ่งอยู่ในหมวด ไปประชุมที่วัดเจ้าคณะแขวง ตามพระราชบัญญัติที่จะเพิ่มขึ้น ปรากฏว่าครูบาเจ้าศรีวิชัย ก็ไม่ได้เข้าร่วมประชุมอีก มีผลให้บรรดาหัววัดไม่ไปอีกเช่นกัน เจ้าคณะแขวงและนายอำเภอลี้จึงมีหนังสือฟ้องถึงพระครูญาณมงคล เจ้าคณะจังหวัดลำพูน ครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงถูกจับขังไว้ที่วัดพระธาตุหริภุญไชยเป็นเวลา 1 ปี หลังจากนั้น พระครูญาณมงคล จึงได้เรียกประชุมพระครูผู้ใหญ่ในจังหวัด เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ และในที่สุด ก็ได้ปลดครูบาเจ้าศรีวิชัยให้พ้นจากตำแหน่งหัวหมวดวัด มิให้เป็นพระอุปัชฌาย์อีกต่อไป และถูกจับขังต่อไปอีก 1 ปี จะเห็นได้ว่า การที่ครูบาศรีวิชัยถูกจับกุมเนื่องจากความกระด้างกระเดื่อง ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าคณะแขวง ตลอดจนไม่สนใจพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ฉบับใหม่ อาจเนื่องด้วยครูบาเจ้าศรีวิชัยมุ่งเน้นการปฏิบัติธรรม มากกว่าที่จะสนใจในระเบียบแบบแผนใหม่ อีกทั้งท่านยังยึดมั่นกับจารีตแบบแผนแบบดั้งเดิม โดยปฏิบัติตามวินัยสงฆ์ที่อาจารย์พระอุปัชฌาย์สั่งสอนมา ความสัมพันธ์แบบหัวหมวดวัด ได้สร้างความผูกพันระหว่างพระในชุมชนด้วยกันที่ให้ความเชื่อถือในอาจารย์หรือพระอุปัชฌาย์ที่ถูกแต่งตั้งจากส่วนกลาง เป็นจุดเริ่มต้นของการยืนหยัดที่จะสืบสานจารีตแห่งความเป็นล้านนา

ครูบาเจ้าศรีวิชัย การจับกุมในช่วงแรก พ.ศ. 2451-2453
ในการต้องอธิกรณ์ครั้งที่สอง มีความเข้มข้นและรุนแรงมากยิ่งขึ้น อันเนื่องมาจากการต้องอธิกรณ์ในช่วงแรกถึงสามครั้งสามครา และยังส่งผลเพิ่มความเลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้านที่มีต่อครูบาเจ้าศรีวิชัยมากยิ่งขึ้น มีการเล่าถึงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่าง ๆ นานาต่อกันไป ทำให้ความนับถือเลื่อมใสในตัวของครูบาเจ้าศรีวิชัยแพร่ขยายออกไปอย่างไม่หยุดยั้ง เมื่อคำเล่าลือทราบถึงเจ้าคณะแขวงลี้และนายอำเภอแขวงลี้ จึงได้เข้าแจ้งต่อพระครูญาณมงคล เจ้าคณะจังหวัดลำพูน โดยตั้งข้อกล่าวหาว่า ท่านซ่องสุมคนคฤหัสถ์ นักบวช เป็นก๊กเหล่า และใช้เวทมนตร์โหงพราย ดังนั้นในวันที่ 12 มากราคม พ.ศ. 2462 พระครูญาณมงคลได้ออกหนังสือฉบับหนึ่งถึงครูบาเจ้าศรีวิชัย เพื่อแจ้งให้ท่านออกจากพื้นที่จังหวัดลำพูนภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันประกาศ ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้กล่าวอ้างถึงพระวินัยแห่งพุทธบัญญัติขึ้นมาว่า ท่านได้กระทำผิดพุทธบัญญัติข้อใดไปบ้าง เจ้าคณะแขวงไม่สามารถเอาผิดได้ จึงเลิกราไปพักหนึ่ง แต่ในเวลาต่อมา เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เรียกครูบาเจ้าศรีวิชัยพร้อมลูกวัดเข้าเมืองลำพูน เหตุการณ์ครั้งนี้ ชี้ให้เห็นสถานะตนบุญของท่านครูบาเจ้าศรีวิชัยชัดเจนมากขึ้น เพราะมีการจัดขบวนแห่แหนท่านเข้าสู่เมืองลำพูนของบรรดาภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์อย่างใหญ่โต เมื่อทางบ้านเมืองได้เห็นว่ามีผู้ติดตามท่านมากเช่นนี้ คงตกใจมิใช่น้อย อุปราชมณฑลพายัพได้สั่งย้ายท่านไปยังเชียงใหม่ โดยให้พักอยู่ที่วัดเชตวัน แล้วจึงมอบให้พระครูสุคันธศีล รองเจ้าคณะเชียงใหม่ที่วัดปลากกล้วย (ศรีดอนไชย) ในช่วงที่ถูกจับกุมที่วัดนี้ ได้มีพ่อค้าใหญ่เข้ามาเป็นอุปัฏฐาก ตลอดจนผู้คนในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงก็เดินทางมานมัสการเป็นจำนวนมาก ทางฝ่ายที่ทำการดูแลเกรงว่าเรื่องลุกลามใหญ่โต เนื่องจากศรัทธาของชาวบ้านชาวเมือง เจ้าคณะเชียงใหม่และเจ้าคณะมณฑลพายัพได้ดำเนินการส่งท่านไปรับการไต่สวนพิจารณาคดีที่กรุงเทพฯ โดยตั้งข้อหาไว้ 8 ข้อ เนื้อหารวมของข้อกล่าวหา อาทิ ตั้งตัวเป็นพระอุปัชฌาย์ทั้งที่ไม่มีใบอนุญาต กระด้างกระเดื่องต่อพระราชบัญญัติสงฆ์ และใช้คำกล่าวอ้างของชาวบ้านที่ว่า ท่านมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ทำให้ฝ่ายส่วนกลางหวาดระแวงว่าท่านจะประพฤติตัวเป็น ผีบุญ โดยรวมแล้วท่านหลุดพ้นจากข้อกล่าวหาทุกกระทง และได้มีโอกาสเข้าเฝ้า สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นการส่วนตัวครั้งหนึ่ง จากการเข้าเฝ้าครั้งนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ได้ส่งสาส์นไปยังกรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จเจ้าคณะใหญ่หนกลาง มีใจความว่า "...วันนี้ฉันได้พบตัวพระศรีวิชัย (14 ก.ค. 2463) ได้ไต่สวนเห็นว่า เป็นพระที่อ่อนโยน ไม่ใช้ผู้ถือกระด้าง ไม่ใช่เจ้าเล่ห์เจ้ากล ไม่ค่อยรู้ธรรมวินัย แต่มีสมณสัญญา พอจะประพฤติอยู่ได้อย่างพระที่ห่างเหินจากสมาคม การตั้งตัวเป็นพระอุปัชฌาย์เองนั้น ด้วยไม่รู้ความหมาย ไม่รู้ประกาศ ทำตามธรรมเนียมคืออุปัชฌายะของเธอ ชื่อสุมนะ เมื่อจะถึงมรณภาพ ได้ตั้งเธอให้ปกครองวัดและบริษัทแทน จนถือว่าได้ตั้งมาจากอุปัชฌายะ เพราะการที่ไม่รู้จักระเบียบแบบแผน ถูกเอาตัวมาลงโทษกักไว้ เกือบไม่รู้ว่าเพราะความผิดอะไร พระอย่างนี้ต้องการอธิบายให้รู้จักผิดชอบ ดีกว่าจะลงโทษ..."
การที่ปล่อยครูบาเจ้าศรีวิชัยกลับภูมิลำเนาเดิม และสามารถจะอาศัยอยู่ในวัดใดก็ได้ นับเป็นการลดความไม่พอใจของประชาชนที่นับถือท่านเป็นอย่างมาก อธิกรณ์ในช่วงระยะที่สองนี้ เหมือนเป็นการทำให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นที่รู้จักในสังคมเมืองมากขึ้น ช่วยส่งให้บทบาทของท่านโดดเด่นและชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะในสายตาชาวเมือง มองเห็นว่ากลุ่มพระและชาวบ้านที่ติดตามครูบาเจ้าศรีวิชัยมีจำนวนมาก และมีความหลากหลายทางชนชาติด้วยกัน จากการที่คณะสงฆ์ยอมปล่อยให้กลับภูมิลำเนา ในสายตาของคนท้องถิ่นล้านนาแล้ว กลับเห็นว่า ไม่มีใครสามารถทำอันตรายต่อท่าน ซึ่งเปรียบเสมือนตนบุญแห่งล้านนาได้ จากการกลับภูมิลำเนา สถานะและบารมีของครูบาเจ้าศรีวิชัย เป็นที่ศรัทธาสูงสุดในทุกกลุ่มชนของสังคมล้านนา ต่างก็ให้ความเคารพยกย่อง และให้การช่วยเหลือสนับสนุนในด้านการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่าง ๆ เป็นอย่างดี เป็นที่น่าสังเกต ครูบาศรีวิชัยยังตั้งอยู่ในปณิธานเดิม คือมุ่งที่จะดำรงรักษาเอกลักษณ์ความเป็นล้านนาแบบดั้งเดิมอยู่ แม้จะเป็นในเฉพาะด้านธรรมวินัยของพุทธศาสนาเท่านั้น แม้ท่านจะต้องอธิกรณ์หลายครั้งจากการตีความตามวินัยสงฆ์ของภาคกลาง และถึงแม้ว่าอิทธิพลของส่วนกลางจะเข้ามามีอำนาจควบคุมสงฆ์ในล้านนา จนเกิดการแบ่งก๊กแบ่งเหล่าในหมู่สงฆ์ล้านนา ก็ไม่ทำให้ท่านสะทกสะท้านต่ออำนาจรัฐจากส่วนกลาง การต้องอธิกรณ์ในช่วงแรกจนถึงช่วงที่สอง แทนที่ปวงชนจะเสื่อมความศรัทธาในตัวครูบาเจ้าศรีวิชัย กลับเป็นว่า ความศรัทธาเพิ่มขึ้นกว่าเดิมตามแรงบีบคั้นจากส่วนกลาง สาเหตุน่าจะเป็นเพราะว่าท่านมุ่งมั่น กอปรกับท่านมีจริยวัตรที่น่าเลื่อมใส กระทั่งพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ยังทรงชื่นชม ทั้งที่ท่านเองเป็นประมุขส่วนกลาง มีอำนาจที่จะตัดสินหรือจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อการยึดมั่นในแนวทางของท่านครูบาศรีวิชัย เพราะฉะนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่รากฐานแห่งความศรัทธาของท่านจะมีพลังมากขึ้น และที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่ง ชาวล้านนามองว่าท่านเป็นพระอริยสงฆ์ มิได้ประพฤติผิดในธรรมข้อใด แต่ทางส่วนกลางถือว่าท่านต้องอธิกรณ์ ถือได้ว่าเป็นการตีความที่ต่างกันระหว่างชาวล้านนากับผู้ปกครองและคณะสงฆ์จากส่วนกลาง

การจับกุมในช่วงที่สาม พ.ศ. 2478-2479
เมื่อครูบาเจ้าโดนขับออกจากเมืองเชียงใหม่ ครูบาเจ้าได้ปวารณาตนว่าจะไม่กลับไปเหยียบแผ่นดินเชียงใหม่อีก เว้นแต่แม่น้ำปิงจะไหลย้อนกลับ ครูบาเจ้าศรีวิชัยมรณภาพเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2481 ที่วัดบ้างปาง ขณะมี อายุได้ 60 ปี ตั้งศพไว้ที่วัดบ้านปางนั้นเวลา 1 ปี จึงได้เคลื่อนศพมาตั้งไว้ ณ วัดจามเทวี จนถึงวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2489 จึงได้รับพระราชทานเพลิงศพ โดยมีประชาชนมาถวายพระเพลิงศพเป็นจำนวนมาก และปราชาชนเหล่านั้น ได้เข้าแย่งชิงอัฏฐิธาตุของท่านพระครูบาศรีวิชัยตั้งแต่ไฟยังไม่มอดสนิท แม้แต่แผ่นดินตรงที่ถวายพระเพลิง ก็ยังมีผู้ขุดเอาไปสักการะบูชา อัฏฐิธาตุของท่านที่เจ้าหน้าที่สามารถรวบรวมได้ได้ถูกแบ่งออกเป็น 7 ส่วน แบ่งไปบรรจุตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วแผ่นดินล้านนาดังนี้

ส่วนที่ 1 บรรจุที่ วัดจามเทวี จ.ลำพูน
ส่วนที่ 2 บรรจุที่ วัดสวนดอก จ.เชียงใหม่
ส่วนที่ 3 บรรจุที่ วัดพระแก้วดอนเต้า จ.ลำปาง
ส่วนที่ 4 บรรจุที่ วัดศรีโคมคำ จ.พะเยา
ส่วนที่ 5 บรรจุที่ วัดพระธาตุช่อแฮ จ.แพร่
ส่วนที่ 6 บรรจุที่ วัดน้ำออกรู จ.แม่ฮ่องสอน
ส่วนที่ 7 บรรจุที่ วัดบ้านปาง อำเภอลี้ จ.ลำพูน

ไม่มีความคิดเห็น: